ตรวจเพื่อก้าวต่อ

สนใจทำแบบสอบถามคลิ๊กที่รูปภาพด้านล่าง

ตรวจเพื่อก้าวต่อ

ปัจจุบันเอดส์ กลายเป็นโรคเรื้อรังโรคหนึ่งที่รักษาได้ ต้องรับประทานยารักษาไปตลอดชีวิต แม้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่คนที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาก็สามารถมีอายุยืนยาวได้เหมือนคนทั่วๆไป และไม่ว่าจะรวยหรือจนก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เพราะรัฐบาลให้คนไทยทุกคนที่ติดเชื้อรักษาได้ฟรีด้วยเงินของรัฐนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม จึงไม่ต้องกลัวว่าใครจะรู้หรือจะถูกไล่ออกจากงาน เกณฑ์การเริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ถูกปรับให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วยหรือรอให้ภูมิต้านทานลดต่ำลงมากๆ เพราะการเริ่มรักษาเร็วมีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพของตัวเองและต่อสังคมภายนอก ทั้งลดการส่งต่อเชื้อเอชไอวีให้ผู้อื่นและลดการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อความก้าวหน้าในด้านการรักษาโรคเอดส์ คือการที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่มารับการรักษาในขณะที่ยังไม่ป่วยหรือในขณะที่ภูมิต้านทานยังดีอยู่ เพราะไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อเนื่องจากไม่เคยไปตรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 20ของผู้ที่ติดเชื้อไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ ในขณะที่เกือบครึ่งของคนไทยที่ติดเชื้อยังไม่รู้ตัว ดังนั้น การรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มเสี่ยง ไปรับการตรวจเลือดเอชไอวีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันแม้กับสามีหรือภรรยาของตนเอง

“ตรวจเพื่อก้าวต่อ” เป็นโครงการรณรงค์ให้คนไทยตรวจเอดส์เป็นปกติวิสัยซึ่งสภากาชาดไทยได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคีเครือข่ายจัดโครงการนี้ขึ้น ซึ่งได้เปิดตัวเป็นทางการโดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และท่านเลขาธิการสภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555และจะเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายจะร่วมรณรงค์ต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้า อันเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทั่วโลกที่รู้จักกันมาในระยะหนึ่งแล้ว คือ “Getting to Zero” หรือ “เอดส์ลดลงให้เหลือศูนย์ได้”

“ตรวจเพื่อก้าวต่อ” เป็นการประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อทุกรูปแบบ ในการทำให้ทุกคนก้าวข้ามความไม่รู้ ความกลัว ความไม่ใส่ใจ ความไม่สะดวก และเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ไม่ไปตรวจเอดส์ ได้มองเห็นประโยชน์ของการตรวจเอดส์ว่าเป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น จนกล้าไปตรวจเอดส์สักครั้งหนึ่งในชีวิต และตรวจต่อเนื่องเป็นปกติวิสัยถ้ามีความจำเป็นหรือมีเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้น เช่น การมีพฤติกรรมเสี่ยงอีก กล่าวง่ายๆ คือ อยากให้คนไทยมองเห็นว่าการตรวจเอดส์เป็นเรื่องธรรมดา และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งคล้ายกับการตรวจสุขภาพประจำปี ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องลึกลับหรือนิรนามอีกต่อไป หลังจากตรวจแล้ว ชีวิตจะได้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตเดี่ยว หรือชีวิตคู่ หรือหากติดเชื้อก็มีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาวเหมือนคนอื่นทั่วไป

สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ไปตรวจเอดส์

1.ไม่คิดว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงเช่น มีสามีหรือภรรยาเพียงคนเดียว ตัวเองก็ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นเลยก่อนแต่งงาน แต่เราไม่สามารถมั่นใจว่า “เขา” จะมีคนอื่นก่อนเรา หรือมีคนอื่นนอกจากเราหรือไม่ ดังนั้น จึงควรไปตรวจพร้อมๆ กันสักครั้ง แล้วพูดคุยกัน ถ้าพลั้งเผลอก็บอกไปตามตรง และใส่ถุงยางป้องกันจนกว่าจะไปตรวจใหม่อีกรอบ

2.ไม่รู้ว่าตรวจไปจะมีประโยชน์อะไรถ้าจะติดก็ติดไปแล้ว รู้เร็วก็กลุ้มใจเร็วขึ้น สู้ไม่รู้ดีกว่า รอให้มีอาการก่อนค่อยตรวจ ถึงแม้จะมีพฤติกรรมเสี่ยงแต่ก็อาจจะยังไม่ติดเอดส์ ถ้ากล้าไปตรวจ เมื่อตรวจไม่เจอจะได้ป้องกันตัวเองให้ดีขึ้น และถึงแม้จะตรวจเจอ สามีหรือภรรยาก็อาจจะยังไม่ติดเชื้อจึงเป็นโอกาสที่จะป้องกัน และการที่ตรวจเจอขณะที่ยังไม่ป่วย ดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยทำให้ไม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์

3.กลัวว่าถ้ามีคนรู้ว่าไปตรวจเอดส์ จะถูกมองในแง่ไม่ดี จะกลัวไปทำไมในเมื่อชีวิตเป็นของเรา และการตรวจเอดส์เป็นหน้าที่ของทุกคน

4.กลัวจะตรวจเจอเพราะเคยรับรู้ว่า เอดส์ไม่มีทางรักษา เอดส์เป็นแล้วตายอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเอดส์รักษาได้ รักษาแล้วไม่ป่วย ไม่เสียชีวิต

5.กลัวว่าตรวจเจอแล้ว จะมีคนรู้ จะถูกคนรังเกียจและอาจถูกไล่ออกจากงาน ซึ่งผู้ที่จะรู้ผลการตรวจ มีเราเพียงคนเดียว คนอื่นไม่มีสิทธิ์รู้ การรักษาก็ไม่ต้องให้นายจ้างออกค่าใช้จ่ายเพิ่ม นายจ้างจึงไม่รู้

6.ไม่รู้ว่าไปตรวจเอดส์ได้ที่ใดสามารถไปตรวจได้ทุกโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องไปที่คลีนิคนิรนาม ของสภากาชาดไทยแห่งเดียว

7.ไม่รู้ว่ามีสิทธิ์ตรวจฟรีค่าตรวจจริงๆ แล้วไม่แพง และยังมีสิทธิ์ตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือมีสิทธิประกันสังคมสามารถไปโรงพยาบาลใดก็ได้ เพียงแค่แสดงบัตรประจำตัวประชาชนก็สามารถตรวจฟรีได้ ตัวเลข 13 หลักในบัตรประจำตัวประชาชนที่โรงพยาบาลป้อนข้อมูลเข้าไปจะถูกเปลี่ยนเป็นรหัสใหม่ทันที ไม่มีใครสามารถย้อนกลับมาดูได้ว่าเป็นใคร ได้รับการปกปิดด้วยวิธีที่ดีที่สุดในโลก

8.หลายคนที่เคยไปตรวจมาแล้ว ไม่ค่อยอยากจะกลับไปตรวจซ้ำอีก เพราะใช้เวลานานในการรอคิว ในการรับคำปรึกษาก่อนตรวจ และเสียเวลาในการฟังผลเลือด สิ่งที่น่าเบื่อเหล่านี้เป็นเรื่องจริง หลายฝ่ายกำลังปรับปรุงให้สะดวกขึ้น เช่น เพิ่มเจ้าหน้าที่ให้บริการ เพิ่มสถานบริการที่สามารถไปใช้บริการได้มากแห่งขึ้น เพิ่มเวลาให้บริการช่วงเย็น และวันหยุดราชการ และการมีคลินิกเคลื่อนที่ไปให้บริการถึงที่ทำงานหรือในชุมชน พยายามย่นย่อการให้คำปรึกษาแนะนำทั้งก่อนและหลังตรวจ เพราะคนส่วนใหญ่พอมีความรู้อยู่บ้างแล้ว หรือการใช้เอกสารให้อ่าน วีดีโอให้ดู หรือการให้โทรศัพท์คุยทางสายด่วนปรึกษาเอดส์แห่งชาติ 1663 เพื่อทดแทนหรือย่นย่อการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีความพยายามในการนำชุดทดสอบแบบรู้ผลเร็ว (rapid test) มาใช้ เพื่อให้ได้ผลการทดสอบภายใน 1 ชั่วโมง ล้วนเป็นวิธีการที่ทุกฝ่ายพยายามปรับปรุงบริการให้รวดเร็ว และสะดวกสบายมากขึ้น

9.หมอไม่ให้คำแนะนำเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะคนไข้มักเชื่อฟังหมอ แต่หมอส่วนใหญ่เองก็ยังไม่เห็นความสำคัญของการแนะนำให้คนไข้ตรวจเอดส์เป็นปกติวิสัย เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจและให้ความรู้กับหมอในทุกสาขาวิชาชีพ ว่าการตรวจเอดส์มีประโยชน์อย่างไร และเขามีอิทธิพลมากเพียงใดในการแนะนำคนไข้แต่ละคนของเขาให้เห็นถึงความสำคัญในการตรวจเอดส์

อาจยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้คนไม่อยากหรือไม่กล้าไปตรวจเอดส์กัน หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจมากขึ้นถึงประโยชน์ของการตรวจเอดส์ และแก้ความกังวลต่างๆ ได้ ซึ่งความกังวลหลายอย่างก็เป็นเรื่องจริง บางอย่างก็กลัวไปเอง การที่สามารถประเมินระดับความเสี่ยงของตัวเองแบบที่ไม่เข้าข้างตนเองมากไป รวมทั้งสามารถชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดี กับข้อเสียของการไปตรวจเอดส์ ถ้าเห็นข้อดีมากกว่า จะได้ก้าวข้ามความกลัว ความไม่รู้ ฯลฯ ตัดสินใจไปตรวจเอดส์โดยสมัครใจสักครั้งหนึ่ง ถ้าท่านทำเช่นนั้นได้ นับได้ว่าท่านได้ประสบความสำเร็จในการตัดสินใจที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อชีวิตที่งดงามจะได้ก้าวต่ออย่างมั่นคง…ตรวจเพื่อก้าวต่อ กันเถอะครับ

ด้วยความปรารถนาดี

ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค

ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

15 พฤศจิกายน 2555

สนใจทำแบบสอบถามคลิ๊กที่รูปภาพด้านล่าง

Print This Page